มีใครบ้างไหมที่ เวลาไปเลือกซื้อผักจะเลือกแต่ผักที่ใบมีลักษณะเป็นรู หรือใบไม่สวย? คงจะเป็นคนกลุ่มน้อยที่จะเลือกทำแบบนั้น เพราะเวลาทานอาหารสิ่งแรกที่ทำให้อาหารนั้นน่ารับประทาน คือ การมองเห็นรูปลักษณ์ของอาหาร ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจแต่ความสวยงามโดยไม่คำนึงถึงวิธีการได้มาของความสวยงามนั้นๆ รวมถึงความสวยามของผักด้วย เพราะการได้มาซึ่งผักที่มีใบสวยงาม ไม่มีรูเจาะจากแมลงศัตรูพืชนั้น ส่วนมากเกษตรกรจะต้องใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัด ทำให้สารพิษตกค้างในผักนั้นได้ โดยวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำได้ง่ายๆ คือ ลดการใช้สารเคมี แล้วจะป้องกันและกำจัดศัตรูพืชยังไงล่ะ?

ผักปลอดสารเคมี คือ ผลผลิตที่ไม่มีสารที่เกิดจากการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช หรือมีสารตกค้างอยู่ในปริมาณไม่เกินที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้

วิธีการปลูกผักแบบปลอดสารเคมี

         1.การเตรียมแปลงปลูก เนื่องจากเมล็ดพืชผักส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก มีระบบรากละเอียดอ่อน ถ้าเกษตรกรเตรียมดินไม่ดีก็อาจมีผลกระทบต่อการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของพืชผักได้ ดังนั้น ก่อนการปลูกพืชควรมีการปรับสภาพดินให้เหมาะสมเสียก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยมีการปลูกผักหรือพืชชนิดอื่นโดยการปล่อยนํ้าให้ท่วมแปลงแล้วสูบออก เพื่อให้นํ้าชะล้างสารเคมีและกําจัดแมลงต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในดิน แล้วจึงทําการไถพลิกหน้าดินตากแดดไว้ เพื่อทําลายเชื้อโรคและแมลงศัตรูที่อาศัยอยู่ในดินอีกครั้ง จากนั้นเกษตรกรควรจะปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้อยู่ในสภาพที่เป็นกลาง โดยใช้ปูนขาว ปูนมาร์ล หรือ แร่โดโลไมท์ อัตรา 200-300 กิโลกรัม/ไร่ แล้วรดนํ้าตามหลังจากการใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินที่เป็นกรดให้เป็นกลางนอกจากนี้ควรเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์
เช่น ปุ่ยคอก ปุ่ยหมัก ในอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นพืชผักมีความแข็งแรงสามารถต้านทานต่อการเข้าทําลายของโรคและแมลงได้

           2.การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ก่อนนําเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกในแปลงปลูกหรือแปลงกล้าเกษตรกรควรทําความสะอาดเมล็ดพันธุ์ก่อน ตามขั้นตอนดังนี้
1. คัดแยกเมล็ดพันธุ์ โดยการคัดเมล็ดที่เสีย เมล็ดวัชพืชที่มีอยู่ปะปน และสิ่งเจือปนต่างๆออก
2. แช่เมล็ดพันธุ์ในนํ้าอุ่น ที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15-30 นาทีจะช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์และยังกระตุ้นการงอกของเมล็ดอีกด้วย
3. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครานํ้าค้าง และโรคใบจุดควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมี เช่น เมทาแล็กซิน 35 เปอร์เซ็นต์ SD (เอพรอน) และไอโปรไดโอน (รอฟรัล) อัตรา 10 กรัม / เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

           3.การปลูกและการดูแล การเลือกวิธีการปลูก ระยะปลูกเป็นเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของพืชผักที่เกษตรกรเลือกปลูก แต่มีข้อแนะนํา คือ เกษตรกรควรปลูกผักให้มีระยะห่างพอสมควร อย่าให้แน่นจนเกินไป เพื่อให้มีการ
ระบายอากาศที่ดีเป็นการปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมต่อการระบาดของโรค นอกจากนี้ควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ โดยอาจเลือกสํารวจเป็นจุดๆ ประมาณ 10-20 จุด/ไร่ ถ้าพบว่ามีการระบาดของโรคและแมลงในระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืชผักนั้น ก็ควรดําเนินการกําจัดโรคและแมลงที่พบทันที

        4.การให้ธาตุอาหารเสริมแก่พืช จะมีความจําเป็นต่อพืชผักในบางชนิดเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความต้านทานโรคให้แก่พืชนั้น เช่น พืชในตระกูลกะหลํ่าจะต้องการธาตุโบรอนเพื่อสร้างความต้านทานโรคไส้กลวงดํา มะเขือเทศจะต้องการธาตุแคลเซียมเพื่อสร้างความตานทานโรคผลเน่า เป็นต้น

          5.การใช้พลาสติกหรือฟางข้าวคลุมแปลงปลูก เป็นการควบคุมปริมาณวัชพืชและเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ได้นาน ทําให้ประหยัดนํ้าที่ใช้รดแปลงผัก การใช้พลาสติกหรือฟางข้าวคลุมแปลงปลูกนี้ ควรใช้กับพืชผักที่มีระยะปลูกแน่นอน ในแปลงที่พบการระบาดของโรคที่มีเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุ และมีเพลี้ยอ่อนหรือแมลงเป็นพาหะ แนะนําให้ใช้พลาสติกที่มีสีเทา-ดํา โดยให้ด้านที่มีสีเทาอยู่ด้านบน เนื่องจากสีเทาจะทําให้เกิดจากสะท้อนแสงจึงช่วยไล่แมลงพาหนะได้

          6.การปลูกผักในโรงเรือนมุ้งตาข่ายไนล่อน พื้นที่ที่จะใช้ปลูกผักในโรงเรือน ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกผักได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า3 ปี เพื่อจะได้คุ้มค่าต่อการสร้างโรงเรือนและการใช้ตาข่ายไนล่อน โครงสร้างของโรงเรือน อาจทําด้วยเหล็กหรือไม้ก็ได้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรว่าต้องการจะใช้พื้นที่นี้ปลูกผักนานเท่าใด ส่วนตาข่ายที่ใช้นั้นจะใช้มุ้งตาข่ายไนล่อนที่มีขนาด 16 ช่องต่อความยาว 1 นิ้ว โดยมุ้งสีขาวมีความเหมาะสมกับการปลูกผัก เนื่องจากแสงผ่านได้เกือบปกติส่วนมุ้งสีฟ้าไม่ค่อยเหมาะสม เนื่องจากแสงผ่านได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น การปลูกผักในโรงเรือนมุ้งตาข่ายนี้ จะไม่สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชผักได้ทุกชนิด มีเพียงหนอนผีเสื้อและด้วงหมัดผัก เท่านั้นที่สามารถป้องกันได้ ส่วนเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนแมลงวันชอบใบแมลงหวี่ขาวและไร ซึ่งเป็นแมลงขนาดเล็กจะไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าหากใช้มุ้งไนล่อนที่มีความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 24 และ 32 ช่องต่อนิ้วแล้วจะป้องกันได้แต่อาจมีปัญหาเรื่องอุณหภูมิและความชื้นภายในมุ้ง

           7.การควมคุมโดยชีววิธี เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตควบคุมศัตรูพืช ซึ่งได้แก่ แมลง ตัวหํ้า ตัวเบียน ที่ทําลายแมลงศัตรูพืชชนิดอื่น หรืออาจใช้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น เชื้อบักเตรีเชื้อไวรัส เชื้อรา ไส้เดือนฝอย เป็นต้น ในการควบคุมซึ่งมี
รายละเอียด ดังนี้
          เชื้อบักเตรีที่นิยมใช้ในการควบคุมแมลง คือ เชื้อบีที (BT) โดยแมลงที่ได้รับเชื้อบักเตรีชนิดนี้เข้าไปแล้ว นํ้าย่อยในลําไส้ของแมลงจะละลายผลึกของเชื้อบักเตรี ทําให้เกิดสารพิษทําลายระบบย่อยอาหารและอวัยวะของแมลง ทําให้ขากรรไกรแข็ง กินอาหารไม่ได้เคลื่อนไหวช้าลง และตายไปในที่สุด
เชื้อบักเตรีที่มีขายเป็นการค้าจะมี 2 กลุ่ม คือ
1. Kurstaki ได้แก่ แบคโทรฟินเอชพี ดับเบิ้ลยูพี, เซ็นทารี่ยูดีจี มีประสิทธิภาพในการกําจัดหนอนในผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนคืบกะหลํ่า
2. Aizawai ได้แก่ ฟลอร์แบค เอชพี, ฟลอร์แบค เอฟซี, ธูรีไซด์ เอชพีมีประสิทธิภาพในกำจัดหนอนใยผัก และหนอนคืบกะหลํ่า เท่านั้น
          เชื้อไวรัส เชื้อไวรัสที่ใช้ในการควบคุม คือ เอ็นพีวี (NPV) โดยใช้ในการกําจัดหนอนหลอดหอมหรือหนอนหนังเหนียว ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปทําลายระบบต่างๆ ของร่างกาย ทําให้หนอนลดการกินอาหารเคลื่อนไหวช้า ลําตัวมีสีซีดลง มีจุดสีขุ่นหรือส้ม แล้วจะใช้ขาเทียมเกาะที่ต้นพืชห้อยหัวลงมาตายในที่สุด
          เชื้อรา ที่ใช้ในการควบคุม คือ ไตรโครเดอร์มาจะควบคุมเชื้อสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า เน่าคอดินของมะเขือเทศและผักกาดหัว โดยจะใช้เชื้อราผสมกับรําข้าวและปุ๋ยหมัก ในอัตรา 1:10:40 แล้วใช้รองก้นหลุมหรือโรยรอบโคนต้น
            ไส้เดือนฝอย จะช่วยควบคุมด้วงหมัดผัก โดยชอนไชเข้าสู่ระบบเลือดหรือกระเพาะอาหาร เมื่อเข้าไปแล้วจะถูก
ย่อยทําลาย จากนั้นจะปลดปล่อยเชื้อบักเตรีที่เป็นอันตรายต่อแมลงออกมา ทําให้แมลงตายในที่สุด ในการใช้ไส้เดือนฝอยนั้น เกษตรกรควรเก็บรักษาไว้ในที่เย็น และใช้ไส้เดือนฝอยในการควบคุมหลังจากการให้นํ้าแก่ต้นพืชช่วงเวลาเย็นๆ เนื่องจากไส้เดือนฝอยจะไม่ทนทานต่อสภาพที่แห้งแล้ง หรือถูกแสงแดด

             8.การใช้สารสกัดจากพืช พืชที่นิยมนํามาใช้สกัดเป็นสารควบคุมโรคและแมลง คือ สะเดา เนื่องจากในสะเดามีสารอะซาดิแรคติน (Azadirachtin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการป้องกันและกําจัดแมลงได้โดย

  • สามารถใช้ฆ่าแมลงได้บางชนิด
  • ใช้เป็นสารไล่แมลง
  •  ทําให้แมลงไม่กินอาหาร
  • ทําให้การเจริญเติบโตของแมลงผิดปกติ
  • ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง
  • ยับยั้งการวางไข่และการลอกคราบของแมลง
  • เป็นพิษต่อไข่ของแมลง ทําให้ไข่ไม่ฟัก
  • ยับยั้งการสร้างเอนไซม์ในระบบย่อยอาหารของแมลง

 

 

 

 

แหล่งที่มา

ขอขอบคุณ : สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์