จะดีกว่าไหม ถ้าเราลดการใช้สารเคมีด้วยการใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติด้วยตัวมันเอง??

ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหากับแมลงศัตรูพืชที่เข้ามาทำลายผลผลิตของตน จะเลือกกำจัดด้วยยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นสารเคมีและเป็นอันตรายทั้งต่อเกษตรกรเองและต่อผู้บริโภคด้วย วันนี้เราจึงมี 5 แมลงนักล่าที่สามารถช่วยเกษตรกรกำจัดแมลงศัตรูพืชได้มาแนะนำ แต่จะมีชนิดไหนบ้าง ไปดูกันเลย…..

1. ด้วงดิน

           ด้วงดินสามารถกลายเป็นนักล่าแสนหิวโหยได้ในเวลากลางคืน โดยมันจะกินพวกทาก หอยทาก หนอน หนอนกะหล่ำปลี และศัตรูพืชอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในสวนของคุณ รู้หรือไม่ว่า ด้วงดินเพียงตัวเดียว สามารถกินแมลงต่าง ๆ ได้ถึงจำนวนมากกว่า 50 ตัวอีกด้วย

  • ลักษณะทั่วไป : ลำตัวยาว 69 มิลลิเมตร ส่วนหัวแบนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นอกมีสีดำมัน ขอบสีชมพู หรือทองแดง-เขียว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อด้วงดินขอบชมพู ด้วงชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือ ปีกคู่หน้าเชื่อมเป็นแผ่นเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พื้นปีกมีลักษณะเป็นร่องตื้น ๆ เรียงขนานกันเป็นแถวยาวจากโคนปีกถึงปลายปีก
  • ลักษณะหนวด : หนวดแบบเส้นด้าย (filiform)
  • ลักษณะปาก : ปากแบบกัดกิน (chewing type)
  • ลักษณะปีก : ปีกคู่หน้าแข็งและหนา (elytra) และปีกคู่หลังปีกบางใส (membrane)
  • ลักษณะขา : ขาเดิน (walking legs)
  • ลักษณะตา : ตารวม (compound eyes)
  • ถิ่นอาศัย : ชอบเดินหากินตามพื้นดินและพื้นทราย พบชุกชุมในช่วงเวลาใกล้ค่ำ ป่าเต็งรัง ป่าสน
  • อาหารของแมลง : กินแมลงและสัตว์ขาข้อปล้องอื่น ๆ

2.แมลงวันทาชินิต

ตัวอ่อนของแมลงวันชนิดนี้จะขุดเข้าไปฝังตัวในศัตรูพืชหลายชนิด และทำลายแมลงพวกนั้นจากภายใน

3.ด้วง Soldier Beetles

          ด้วงชนิดนี้จะชื่นชอบกินเพลี้ยและหนอน ช่วยกำจัดศัตรูพืชและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ดึงดูดพวกมันได้ด้วยการปลูก แคทนิป สร้อยทอง และไฮเดรนเยียไว้ภายในสวน ด้วง หรือ แมลงปีกแข็งนั้น นับเป็นแมลงที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก กล่าวคือ มีประมาณร้อยละ 40 ของแมลงที่มีอยู่ทั้งหมด (ประมาณ 400,000 ชนิด) มีลักษณะเด่นโดยรวม คือ ในวัยเต็มตัวจะมีปีก 2 คู่ โดยปีกคู่หน้าเป็นปีกที่มีความแข็งเท่ากันหรือเกือบเท่ากันตลอดทั้งแผ่น เรียกว่า Elytra ซึ่งหมายถึง แผ่น หรือ ปีก ส่วนปีกคู่หลังเป็นแผ่นปีกใหญ่ค่อนข้างโปร่งแสง เมื่อเวลาเกาะอยู่ปีกคู่หลังจะพับซ้อนกันอย่างมีระเบียบและซ่อนอยู่ภายใต้ปีกคู่หน้าอย่างมิดชิด และเมื่อต้องการบิน ปีกคู่หลังนี้จะกางออก โดยการเปิดกางออกของปีกคู่หน้าขึ้นก่อนที่จะเหยียดกางปีกคู่หลังนี้ออกมาบินอย่างรวดเร็ว เมื่อเวลาที่จะเกาะหรือคลาน จะหุบปีกโดยปีกคู่หน้าจะประกบกันสนิทเป็นเส้นตรงอยู่ตรงกลางลำตัว ปีกคู่หน้าจึงทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันตัวและปีกคู่หลัง ในขณะที่บินปีกคู่หน้านี้จะไม่ช่วยในการบินแต่จะช่วยในการทรงตัว อย่างไรก็ตาม จะมีด้วงบางชนิดที่ปีกคู่หน้าเชื่อมติดกัน จึงไม่สามารถบินได้ และบางชนิดก็มีปีกคู่หน้าเล็กหรือสั้นกว่าลำตัวมากจนไม่สามารถปิดส่วนท้องได้สนิท

4.แมลงช้างปีกใส

            ไม่ว่าจะเป็นตัวอ่อนหรือโตเต็มวัยแล้ว แมลงช้างปีกใสก็สามารถกินเพลี้ย หนอนผีเสื้อ หนอนแมลง เพลี้ยไฟ และศัตรูพืชอีกหลากหลายชนิด วิธีที่จะทำให้สวนมีแมลงชนิดนี้มาอาศัยคือการปลูกต้นตังกุย ตาเสือ คอสมอส และ อลิสซั่ม เอาไว้ เป็นแมลงตัวห้ำที่สำคัญสามารถกินศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น ไข่ของแมลงหลายชนิด แมลงหวี่ขาว ไรแดง หนอนตัวเล็กๆ เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยแป้ง ซึ่งสามารถพบได้ในแปลงมันสำปะหลังที่มีการระบาด ของเพลี้ยแป้งโดยจะอยู่ปนกับเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักพืช จังหวัดชลบุรี ได้มีการเพาะเลี้ยงแมลงช้างปีกใส เพื่อนำไปใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง จำนวน 2 ชนิด คือ

  • ตัวเต็มวัย : สีเขียวอ่อน ปีกยาวโปร่งฉลุคล้ายลูกไม้ ลำตัวสีเขียว ยาวประมาณ 1.0 – 1.8 ซม. ปีกยาวคลุมลำตัวเวลาเกาะอยู่กับที่ มีอายุประมาณ 1 เดือน
  • ไข่ : มีก้านชูสีขาว ยาวประมาณ 1.0 ซม. ไข่ติดอยู่ที่ปลายก้านมีทรงเป็นวงรี สีเขียวอ่อน เมื่อไข่ใกล้ฟักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไข่มีอายุ 3 – 4 วัน
  • ตัวอ่อน : รูปร่างคล้ายจระเข้ เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 0.5 – 0.8 ซม. เป็นระยะที่ทำลายเหยื่อได้ เป็นจำนวนมาก ชอบกินเพลี้ยแป้งเป็นอาหารและจะพรางตัวเข้ากับเหยื่อ ตัวอ่อนมี 3 วัย อายุประมาณ 12 – 14 วัน
  • ดักแด้ : เมื่อตัวอ่อนโตเต็มที่จะเข้าดักแด้เป็นรูปทรงกลมสีขาวปนเทาและมีใยคลุม ขนาดใกล้เคียงกับเมล็ดข้าวฟ่าง อายุประมาณ 7 – 10 วัน
  • ลักษณะการทำลายเหยื่อ : ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสจะทำลายเหยื่อโดยใช้ปากที่มีลักษณะคล้ายงาช้าง เจาะเข้าไปในตัวเหยื่อและดูดกินน้ำเลี้ยง สำหรับชนิด Mallada เมื่อกินเหยื่อแล้วจะนำซากเหยื่อมาแบกไว้บนหลัง แต่ชนิด Plesiochrysa จะนำซากเหยื่อมาป้ายไว้ที่ลำตัวเพื่อลำพรางตัวเองจากศัตรูอื่นๆ ใน 1 ชม. แมลงช้างปีกใสสามารถกินเหยื่อได้เฉลี่ย 60 ตัว

การใช้แมลงช้างปีกใสควบคุมศัตรูพืช

  1. ปล่อยเมื่อส้ารวจพบศัตรูพืชในแปลงปลูกพืช
  2. อัตราการปล่อย
  • พบเพลี้ยแป้ง 1-2 จุด : ปล่อยไข่แมลงช้างปีกใส 100 ตัว/ไร่
  • พบเพลี้ยแป้ง 3 จุด ขึ้นไป : ปล่อยไข่แมลงช้างปีกใส 200 – 500 ตัว/ไร่
  1. ปล่อยได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของแมลงช้างปีกใส
  2. ปล่อยช่วงเวลาเย็น ประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไป
  3. ปล่อยกระจายให้ทั่วแปลง
  4. งดใช้สารเคมีกำจัดแมลง
  5. ควรตรวจสอบหลังปล่อยไปแล้ว ประมาณ 7 วัน

5.แมลงเต่าทอง

           แมลงที่มีรูปร่างเป็นที่คุ้นเคย พวกมันชื่นชอบที่จะอาศัยอยู่บริเวณต้นตังกุย ตาเสือ ผักชีฝรั่ง ยี่หร่า และยาร์โรว์ ซึ่งจะกินเพลี้ย ไร และแมลงที่เป็นศัตรูพืชเป็นอาหาร แมลงเต่าทองจัดเป็นแมลงสำคัญชนิดหนึ่งในระบบนิเวศ ซึ่งบางชนิดเป็นแมลงตัวห้ำที่คอยจับกินศัตรูพืชในแปลงเกษตร ช่วยลดปริมาณแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี แมลงเต่าทองไม่ใช่แมลงหรือสัตว์ที่นิยมนำมาเลี้ยง แต่เป็นแมลงที่พบได้ตามธรรมชาติที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีแมลงอื่นเหมือน นอกจากนั้น บางท้องที่ ทั้งในหรือต่างประเทศยังมีความเชื่อว่าเป็นแมลงนำโชคอีกด้วย และเนื่องจากความสวยงาม และความโดดเด่นของแมลงเต่าทองยังทำให้นำแมลงชนิดนี้ถูกมาสร้างภาพยนต์การ์ตูนอนิเมชั่น เช่น เรื่อง Minuscule ที่มีแมลงเต่าทองเป็นตัวเอก

  • ลักษณะทั่วไป : แมลงเต่าทองมีช่วงการเจริญเติบโตครบทั้ง 4 ระยะ คือ ระยะตัวเต็มวัย ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะดักแด้
  • ตัวเต็มวัย : ตัวเต็มวัยหลังจากฟักออกจากดักแด้จะเป็นแมลงปีกแข็ง ลำตัวยาว 3-6 มิลลิเมตร ลำตัวมีลักษณะมันวาว มีหลายสีตามชนิด อาทิ สีน้ำตาลแดง สีแดง สีเหลืองปนน้ำตาลแดง และสีเหลือง เป็นต้น
  • ส่วนหัว และอกมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับส่วนท้อง หัว และอกมีสำดำ และพบจุดแต้มสีขาวบนส่วนอก แต่บางชนิดอาจมีีส่วนอก และส่วนหัวเป็นสีเดียวกันกับสีปีก บางชนิดมีอกปล้องแรกสีเหลือง มีสัญลักษณ์คล้ายรูปตัวที (T-shaped) อยู่ตรงกลางเชื่อมต่อกับเส้นกลางปีก และปีกแต่ละข้างมีลายหยักขวาง 2 เส้น โดยส่วนปีกอาจมีได้หลายสีตามที่กล่าวข้างต้น แต่ทุกชนิดจะมีจุดสีดำแต้มติดบนส่วนปีก จุดนี้อาจมี 4 จุด หรือมากกว่า และมักพบจุดแต้มสีดำที่แต้มเชื่อมกันบริเวณกึ่งกลางโคนปีกที่เชื่อมติดกับส่วนอก บางชนิดอาจมีหนวด แต่บางชนิดไม่มีหนวด อาจมีขนปกคลุม และอาจไม่มีขนปกคลุม
  • ขามี 6 ขา สีดำ ขาคู่แรกอยู่ที่ส่วนอก ส่วนขาอีก 2 คู่ อยู่ที่ตอนต้นติดกับส่วนอก 1 คู่ และตอนกลางของส่วนท้อง 1 คู่ ขามีลักษณะเป็นปล้องต่อกัน 3 ปล้อง แบ่งเป็นโคนขา ขา และเท้าที่เป็นปล้องสุดท้าย มีระยะตัวเต็มวัยประมาณ 55-92 วัน มีวงจรชีวิตประมาณ 71-117 วัน
  • อาหารแมลงเต่าทอง : แมลงเต่าทองจัดเป็นตัวห้ำที่คอยควบคุมแมลงต่างๆ โดยมีอาหารที่คอยจับกิน ได้แก่ แมลงชนิดต่างๆ เพลี้ย และหนอนของแมลง
  • ประโยชน์แมลงเต่าทอง : แมลงเต่าทองเป็นแมลงตัวห้ำที่คอยควบคุมศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไข่ และหนอนผีเสื้อ หนอนแมลงวัน ไข่ และหนอนแมลงหวี่ หนอนซอนใบ และไร เป็นต้น

 

 

 

แหล่งที่มา

ขอขอบคุณ : FARMERSPACE / ความรู้เกษตร