การปลูกมะลิในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ เพราะมะลินั้นสามารถปลูกได้ทุกที่และไม่จำกัดสภาพพื้นที่ จึงทำให้มีเกษตรกรหันมาปลูกมะลิมากขึ้น แต่ด้วยความที่มะลิเป็นดอกไม้สด เกษตรกรควรมีการศึกษาปัจจัยต่างๆ เพื่อป้องกันต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น

            มะลิ มีลักษณะต้นเป็นไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และไม้รอเลื้อย มีทั้งชนิดใบเดี่ยวและใบรวม การจัดเรียงใบมีทั้งแบบใบอยู่ตรงข้ามกัน ในสลับกัน ดอกมีสีขาว กลีบดอกมีทั้งชั้นเดียวและหลายชั้น เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อ ดอกจะออกจากตรงยอดหรือข้างกิ่ง โดยปกติดอกจะเริ่มบานในเวลาบ่าย และร่วงในวันรุ่งขึ้น มะลิจะให้ดอกมากในฤดูร้อนและฤดูฝน ผลผลิตจะลดต่ำลงในฤดูหนาว

การขยายพันธุ์

ที่นิยมทำกันมากที่สุด คือการปักชำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายสะดวกและรวดเร็ว โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

  1. เตรียมวัสดุเพาะชำ โดยใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 บรรจุในตะกร้าพลาสติกที่เตรียมไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
  2. การเตรียมกิ่งพันธุ์ กิ่งที่ใช้จะเป็นกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดให้มีความยาวของกิ่งประมาณ 4 นิ้ว หรือมีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ การตัดกิ่งควรจะตัดให้ชิดข้อ ริดใบส่วนล่างออกให้เหลือใบคู่บนสุด 1 คู่ ตัดใบออกให้เหลือเพียง 1/2 ใบ เพื่อลดการคายน้ำ
  3. นำกิ่งมะลิที่เตรียมไว้ปักชำลงในภาชนะเพาะ โดยปักเรียงเป็นแถว ให้มีระยะห่างระหว่างแถวและกิ่ง 2 x 2 นิ้ว จากนั้นรดน้ำและสารกันรา เช่น แคปแทน และสารเคมีกำจัดแมลง เช่น เซฟวิน
  4. รักษาความชื้นให้เหมาะสมและคงที่ โดยนำเอาภาชนะเพาะชำ (ตะกร้าพลาสติก) ไปวางไว้ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงให้แน่น (มัดให้สูง) นำไปผูกไว้ที่กิ่งหรือท่อนไม้ เพื่อไม่ให้ปากถุงกดทับกิ่งชำ แล้วนำไปวางไว้ในที่ร่ม ถ้าเป็นมะลิลากิ่งปักชำจะออกรากภายใน 3 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นมะลิซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
  5. หลังจากกิ่งปักชำออกรากแล้วให้นำไปเลี้ยงต่อในถุงขนาด 2×3 นิ้ว โดยใส่ดิน, ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก อัตรา 3:1:1 จนต้นมะลิแข็งแรงดีแล้ว จึงนำไปปลูกต่อไป

การปลูกมะลิ

ควรจะปลูกให้มะลิได้รับแสงแดดเต็มที่ เพื่อดอกจะได้ดกตามต้องการ นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม มะลิชอบดินร่วนซุยมีการระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารสมบูรณ์ หากจะปลูกมะลิให้มีอายุยืนยาว ควรขุดหลุมลึก กว้าง และยาวด้านละ 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้ผุหรือปุ๋ยหมัก และวัสดุอื่น ๆ ในอัตราส่วน 1:1:1 พร้อมกับเติมปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) และปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 อย่างละ 1 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใส่กลับลงไปในหลุมใหม่ ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงนำเอาต้นมะลิที่ซื้อมา หรือได้จากการปักชำลงปลูก

การดูแลรักษา

  1. การกำจัดวัชพืช ปกติชาวสวนนิยมใช้กรัมม๊อกโซนฉีดตามร่องปลูกทุกเดือน โดยไม่ให้โดนต้นมะลิ
  2. การใส่ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราการใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่ม ใส่เดือนละครั้ง โดยการหว่านและรดน้ำตามด้วย
  3. การตัดแต่ง หลังจากปลูกมะลิไปนาน ๆ แล้วมะลิจะแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ควรตัดแต่ทรงพุ่มให้โปร่ง รวมทั้งตัดกิ่งที่แห้งและตายออกด้วย จะช่วยให้มะลิมีทรงพุ่มสวยงาม โรคและแมลงลดน้อยลง มะลิมีอายุยืนยาวขึ้น ให้ดอกมากขึ้น พร้อมทั้ง จะช่วยให้เกษตรกรมีความสะดวกในการปฏิบัติงานอีกด้วย
  4. การให้น้ำ มะลิจะต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำ ควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาด ๆ เสียก่อน ทั้งนี้อาจให้น้ำวันละ 1-2 ครั้งหรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน โดยให้รดน้ำในตอนเช้า แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วม หรือมีน้ำขังอยู่ในแปลงนาน ๆ เพราะจะทำให้ต้นมะลิแคระแกร็น ใบเหลือง และตายได้

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวดอกมะลิต้องเก็บขณะดอกตูม มีความเจริญเต็มที่ มีลักษณะสีขาวนวล วิธีเก็บให้ใช้มือเด็ดตรงก้านดอกใต้กลีบเลี้ยง เกษตรกรมักเก็บดอกตอนเช้ามืด ประมาณ 03.00-04.00 น. ทั้งนี้เพื่อจะส่งตลาดตอนเช้าตรู่

 

 

แหล่งที่มา

ขอขอบคุณ : การปลูกมะลิ / พลังเกษตร