สำหรับเกษตรกร ปัญหา ดินไม่ดี ภัยแล้ง เป็นสิ่งที่ยากจะแก้ปัญหาได้ แต่มันก็พอมีวิธีรับมืออยู่ กับการระบบน้ำหยด เพียงแค่นี้ก็มีน้ำใช้ตลอดทุกฤดู ทำมาหากินได้ตลอดทั้งปี วางระบบเองได้ง่ายๆ หลักการก็ง่ายๆเลย คือ หากดินไม่อุ้มน้ำ แทนที่จะรดน้ำลงไปแล้วน้ำซึมลงสู่ใต้ดินหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว พืชก็ไม่ทันได้รับน้ำ หากเราปล่อยให้น้ำหยดลงไปเรื่อยๆจนดินชื้น พืชก็จะยังได้รับน้ำอยู่เรื่อย

ระบบน้ำหยดเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นในแถบประเทศ ที่ทำการเพาะปลูกบนพื้นดินแห้งแล้ง แห้งแล้งขนาดที่ว่ามีผิวดินเป็นทะเลทรายก็สามารถปลูกพืชได้ ซึ่งในบ้านเราเองก็ได้นำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในการเกษตรให้เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา ถึงแม้ว่าดินจะไม่อุ้มน้ำก็สามารถทำให้พืชได้น้ำและสารอาหารได้เช่นกัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปลูกผักสวนครัวได้ทุกขนาดของแปลงผัก อุปกรณ์หลักๆก็หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ลงทุนด้วยงบแค่ 3,000 บาท

แนวคิดระบบน้ำหยดนี้ถูกนำมาต่อยอดโดย คุณ ธราวุฒิ ไก่แก้ว วิศวกรการเกษตรชำนาญการ โดยได้เริ่มทำการทดลองปลูกในแปลงปลูกที่มีดินแห้งแล้ง ดินไม่อุ้มน้ำ ขนาดแปลงปลูกประมาณ 200 ตารางเมตร ปลูกพืชเป็นแนวเส้นตรงวางระยะห่างระหว่างแถวประมาณครึ่งเมตร

จากการทดลองบนแปลงปลูกที่ดินไม่อุ้มน้ำ รดน้ำไปไม่นานก็ซึมลงสู่ใต้ดินหมด เมื่อใช้ระบบน้ำหยด ผลที่ได้ปรากฎว่าพืชได้น้ำสม่ำเสมอ เปิดให้น้ำแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ใช้น้ำแค่ 50 ลบ.ม. ต่อฤดูกาลผลิต (100 วัน) ค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จ มีค่าน้ำ ค่าไฟสูบน้ำแค่ 200 บาท ต่อฤดูกาลผลิตเท่านั้นเอง

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมได้แก่

1.ถังน้ำ 200 ลิตร

2.วาล์วน้ำ

3.ท่อพีวีซี

4.เทปพันท่อ , เทปน้ำหยด

5.ข้อต่อท่อแบบต่างๆ และ อุปกรณ์ต่อพ่วง

การติดตั้งและวางระบบก็ไม่ยุ่งยาก เริ่มจาก เจาะรูก้นถังน้ำ 200 ลิตร ประมาณ 5 ซม. ติดตั้งทางน้ำออก นำข้อต่อพีวีซีเกลียวนอกพันด้วยเทปพันเกลียว ขันเข้ารูให้แน่น ล็อกข้อต่อพีวีซีเกลียวนอก…ต่อมาติดตั้งวาล์วพีวีซี ติดตั้งชุดกรองน้ำเกษตร ให้หัวลูกศรที่ตัวกรองหันไปทิศทางเดียวกับการไหลของน้ำ ติดตั้งท่อพีวีซีตามความกว้างของหัวแปลง ตั้งถังบนที่สูงให้สูงกว่าแปลงปลูก 1-2 เมตร จากนั้นเจาะท่อพีวีซีในตำแหน่งที่ต้องการวางสายเทปน้ำหยด ใส่ลูกยางกันรั่วในรูที่เจาะ

ติดตั้งข้อต่อเทปน้ำหยด เปิดน้ำไล่เศษตะกอน ก่อนครอบฝาพีวีซีปิดปลายทั้งสองข้าง เสียบเทปน้ำหยดเข้ากับข้อต่อ ล็อกเทปให้แน่น ให้รูน้ำหยดหงายขึ้น เปิดวาล์วทดสอบระบบ สุดท้ายพันปลายสายเทปน้ำหยดให้แน่น เพียงเท่านี้เกษตรกรจะได้ระบบสวนครัวน้ำหยดราคาประหยัด

ข้อดีอีกอย่างคือเวลาให้ปุ๋ย เราสามารถผสมปุ๋ยน้ำใส่เข้าไปในถังพักน้ำได้เลย พอถึงเวลาเราเปิดระบบน้ำหยด ปุ๋ยก็จะถูกส่งไปพร้อมๆกับน้ำ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาให้ปุ๋ยทีหลัง เรียกว่าลงทุนลงแรงวางระบบครั้งเดียว สามารถช่วยประหยัดแรง และ เวลาในการดูแลพืชไปได้เยอะเลย สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกมาก และมีเงินทุนมาก สามารถนำประยุกต์ใช้ให้พอเหมาะกับพื้นที่ได้ แค่เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปตามสัดส่วน การเสียเงินวางระบบน้ำหยดแค่หลักพัน ดีกว่าเสียเงินซื้อที่ดินใหม่แน่นอน

นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรผู้ชำนาญและมากความสามารถได้นำระบบนี้ไปต่อยอด เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ติดตั้งตัววัดความชื้นในดิน และ วาล์ว เปิด/ปิด น้ำอัตโนมัติ ทำเป็นระบบน้ำหยดรดน้ำอัฉริยะ เปิด/ปิด ระบบน้ำหยด ได้จากค่าความชื้นในดินด้วยตัวเอง สามารถให้น้ำตามความชื้นในดินและความต้องการน้ำของพืชได้เอง โดยไม่ต้องเสียเวลาไปดูแลให้ยุ่งยากอีกด้วย อาศัยพลังงานจากแผงโซลาเซลล์ ทำให้ช่วยประหยัดค่าไฟไปในตัว เรียกได้ว่าลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวๆเลย

ขอบคุณที่มา คุณ ธราวุฒิ , ไทยรัฐ