สถานการณ์ลำไยในภาพรวม

สถานการณ์ด้านการผลิต ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ปี 2561 – 2562 เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจาก 840,540 ไร่ ในปี 2561 เป็น 857,036 ไร่ ในปี 2562 ขณะที่ผลผลิตและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 675,549 ตัน และ 804 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2561 เป็น 699,815 ตัน และ 817 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2562 ตามลำดับ เนื่องจากราคาลำไยที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำ ได้แก่ การกระจายผลผลิต
ออกนอกแหล่งผลิต การส่งเสริมการแปรรูปและการส่งเสริมการตลาด ประกอบกับความต้องการบริโภคลำไยจากต่างประเทศ
ได้แก่ จีน และเวียดนาม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจึงทำให้เกษตรกรลงทุนปลูกและดูแลรักษาต้นลำไย

สถานการณ์การผลิตลำไยในฤดู ปี 2563 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เปรียบเทียบกับปี 2562 พบว่าเนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 5.72 (จากเดิม 614,309 ไร่ เป็น 649,447 ไร่) จากการปลูกใหม่แทนลิ้นจี่ ส้มนาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลูกใน
พื้นที่ว่าง เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.26 (จากเดิม 593,528 ไร่ เป็น 636,623 ไร่) เนื่องจากลำไยที่ปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่างและ
ปลูกแทนไม้ผลอื่นตั้งแต่ปี 2558 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.84 และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 32.75 (จากเดิม 331,335 ตัน เป็น 439,850 ตัน) อย่างไรก็ตามคาดการณ์`ในปีนี้ลำไยจะให้ผลผลิตช้าลง เนื่องจาก
สภาพอากาศที่แปรปรวนร้อนสลับหนาวและไม่มีช่วงหนาวต่อเนื่องยาวนาน คาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จะเป็นระยะดอกบานเต็มที่สามารถประมาณการผลผลิตได้ชัดเจนขึ้น ด้านการตลาด พบว่า ปี 2560– 2562 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกลำไยสดมีแนวโน้มสูงขึ้น ปริมาณการส่งออกลำไยสดเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 400,000 ตันคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 8,800ล้านบาท (ราคาส่งออกลำไยสดเฉลี่ยตันละ22,000 บาท) โดยตลาดหลักยังคงเป็นจีนอินโดนีเซีย ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

 

ฤดูกาลผลิตลำไย
ปกติลำไยจะเริ่มทยอยออกดอกตั้งแต่เดือนมกราคม และเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อครบเวลา 210 – 240 วัน หลังดอกบาน ช่วงเวลา
ที่เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยในสวนออกจำหน่าย คือ เดือนมิถุนายน – กันยายนซึ่งเรียกว่าเป็นลำไยในฤดู แต่หากเกษตรกรรายใดเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนหรือหลังจากช่วงเวลาดังกล่าว ก็เรียกว่า เป็นลำไยนอกฤดูแต่อย่างไรก็ตามจากสภาพอากาศที่แปรปรวนร้อนสลับหนาวและกระทบแล้งยาวนานในปีนี้ส่งผลกระทบกับการออกดอกและติดผลครั้งแรกให้ช้าลงไปจากปกติอย่างน้อย 1 เดือน มีผลให้ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยช้าไปจากเดิมอีกประมาณ 1 เดือนเช่นเดียวกัน

วิเคราะห์ปัญหาที่คาดว่าจะประสบในปีนี้

ปัญหาด้านการผลิต สภาพอากาศเป็นปัจจัยหลักที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช พบว่า
 การติดดอกออกผล : เป็นผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนอากาศหนาวเย็นลงแต่ไม่ต่อเนื่องยาวนาน
เพียงพอต่อการพักต้น เพื่อสะสมอาหารอย่างสมบูรณ์ การติดดอกออกผลจึงไม่สม่ำเสมอ คาดว่าจะกระจายออกดอกเป็นหลายรุ่น ประกอบกับปีนี้เป็นสภาวะที่พืชกระทบแล้งตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงเมษายน 2563 ทำให้อากาศไม่ชุ่มชื้นเพียง
พอต่อการผสมเกสรหลังระยะดอกบานได้อย่างสมบูรณ์ โอกาสที่ลำไยจะติดผลย่อมลดลง เกษตรกรจึงต้องดูแลและบริหาร
จัดการสวนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น แรงงานการที่ต้องเตรียมเรื่องการจัดการช่อดอกและช่อผล ปุ๋ยเร่งดอกและผลที่ต้องเสริมให้ลำไยเป็นพิเศษ

คุณภาพของผลผลิต : เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ลำไยไม่มีช่วงเวลาที่หนาวยาวนาน (ปกติควรหนาวต่อเนื่อง20 วันขึ้นไป) อาหารสะสมอาหารในต้นอาจมีไม่มากพอ ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตในช่วงหลังการติดผล เกษตรกรจึงต้องหันมาเพิ่มธาตุอาหารเพื่อเร่งความสมบูรณ์ในช่วงดอกบานและหลังติดผลแล้ว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเช่นเดียวกัน

ปัญหาด้านราคา สำหรับลำไยสดจะได้รับผลกระทบเนื่องจากคุณภาพของผลผลิตลำไยที่ไม่สม่ำเสมอ และลำไย
อบแห้งจะได้รับผลกระทบจากกรณีตลาดลำไยอบแห้งซึ่งขณะนี้จีนยังเป็นตลาดผูกขาดรายใหญ่เพียงรายเดียว

สภาพธรรมชาติของลำไยเป็นพืชผสมข้าม(ดอกตัวเมีย และดอกตัวผู้อยู่แยกกัน อาจอยู่ในช่อเดียวกัน หรือคนละช่อก็ได้) อัตราส่วนของดอกตัวผู้และดอกตัวเมียบนช่อมีอัตรา6 : 1 และมีการบานของดอกไม่พร้อมกันการนำผึ้งเข้าช่วยผสมเกสร จะช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์การติดผลของลำไยมีมากขึ้นไม่ว่าต้นลำไยจะอายุเท่าใดก็ตาม และจะมีปริมาณมากกว่าต้นที่ไม่มีผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่น ๆ และจากสถานการณ์และการวิเคราะห์สภาพปัญหา ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้ผึ้งช่วยในการผสมเกสรความจำเป็นและความสำคัญเป็นดังนี้

เพื่อต้องการให้ได้ผลผลิตที่ มีปริมาณตามต้องการ การใช้ผึ้งช่วยผสมเกสรเป็นแนวทางหนึ่ง ในการช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ เช่น ลำไยเพิ่มขึ้น 78.78% ลิ้นจี่เพิ่มขึ้น 42.05% เป็นต้น

เป็นวิธีการธรรมชาติทีสำคัญ มากวิธีหนึ่ง สวนลำไยต้องใช้สารชีวภาพจึงไม่มีผลกระทบข้างเคียง

 

แนวทางการปฏิบัติของเกษตรกรสวนลำไย

  • ควรทำสวนลำไยแบบใช้สารชีวภาพ จะไม่มีผลกระทบต่อผึ้ง/แมลงผสมเกสร
  •  สำรวจแมลงศัตรูพืชเพื่อหาชนิดและปริมาณก่อนการฉีดพ่นทุกครั้ง
  •  จัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานใช้สารพิษที่มีพิษน้อยต่อผึ้ง หรือสารอินทรีย์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูลำไยในช่วงดอกบาน
  •  เลือกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูลำไยตามข้อแนะนำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
  •  ไม่ฉีดพ่นสารเคมีช่วงดอกลำไยบาน
  •  มีการบริหารปริมาณแมลงให้ลดลงก่อนดอกไม้บาน แล้วจึงแจ้งให้เจ้าของผึ้งนำผึ้งมาตั้งในสวน
  •  ติดต่อเจ้าของผึ้งเพื่อนำผึ้งมาวางในพื้นที่ของตน เพื่อช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตลำไย
  •  ตกลงกับเจ้าของผึ้งและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการติดต่อ ต้องแจ้งล่วงหน้ากับเจ้าของผึ้งทุกครั้ง หากมีความจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีในระหว่างมีผึ้งอยู่ในสวนเพื่อให้เจ้าของผึ้งสามารถย้ายรังผึ้งออกจากสวน หรือปิดหน้ารังผึ้งในกรณีย้ายผึ้งไม่ทัน หรือยังไม่ต้องการย้ายผึ้งออก
  •  หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีในกรณีเจ้าของสวนลำไยยังไม่สามารถย้ายผึ้งออกได้ เจ้าของสวนลำไยต้องช่วยปิดหน้ารัง เพื่อรอเจ้าของผึ้งมาดำเนินการต่อไป
  •  มีการนำผึ้งชนิดอื่น เช่น ผึ้งโพรงหรือชันโรงมาช่วยผสมเกสรดอกลำไย

ประโยชน์ที่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องจะได้รับ

เนื่องจากการเลี้ยงผึ้งในปัจจุบันกำลังเป็นที่สนใจจากประชาชนหลายอาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร จึงทำให้
การเลี้ยงผึ้งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วผึ้งเป็นแมลงที่มีประโยชน์หลายด้านทั้งในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและทางการแพทย์ ฯลฯ ดังนี้

  • ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพราะผึ้งเป็นแมลงที่สำคัญซึ่งช่วยในการผสมเกสรของพืชเศรษฐกิจมากมาย
    หลายชนิด เช่น ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม มะพร้าวมะม่วง กาแฟ ท้อ สตรอว์เบอร์รีมะม่วงหิมพานต์ ทานตะวัน พืชตระกูลแตง
    พืชผักที่ต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ ข้าวโพดฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฯลฯ
  • ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง จากการขายผลิตภัณฑ์ผึ้งประเทศไทยมีการส่งออกน้ำผึ้งลำไย ไปยัง
    ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย แคนาดาจีน และประเทศอื่น ๆ จำนวน 7,907.92 ตันคิดเป็นมูลค่า 616.56 ล้านบาท
    (กรมศุลกากร : 23 ม.ค. 63)
  • ช่วยให้มีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ปลูกพืชและผู้เลี้ยงมี
    ประโยชน์ร่วมกัน โดยผู้ปลูกพืชได้ประโยชน์จากผึ้งในการผสมเกสร และเพิ่มผลผลิตส่วนผู้เลี้ยงผึ้งได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จากผึ้ง และผลของการใช้สารเคมีด้วยความระมัดระวัง ใช้เมื่อจำเป็นหรือมีปริมาณศัตรูพืชเกินระดับเศรษฐกิจ จะทำให้การใช้สารเคมีลดลง ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายค่าสารเคมี ลดปัญหามลภาวะในธรรมชาติเนื่องจาก การพ่นสารเคมีมากเกินไปจะมีพิษตกค้างในธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคม

 

ท่่านใดสนใจการเลี้ยงผึ้ง ต้องการศึกษา ดูงาน หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตรกรมส่งเสริมการเกษตร