เกษตรกรที่ปลูกไม้ผลย่อมต้องการให้ผลผลิตของตนมีคุณภาพและปริมาณที่มาก เพื่อสร้างกำไรให้กับเกษตรกร จึงส่งผลให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยลงไปเยอะๆ แต่เกษตรกรก็ไม่รู้อีกว่าปุ๋ยที่ใส่ไปนั้น พืชสามารถนำไปใช้ได้มากน้อยเพียงใด และละลายหายไปมากน้อยขนาดไหน หากเป็นปุ๋ยอินทรีย์ก็ย่อมไม่ส่งผลกระทบมาก เพราะต้นทุนไม่สูงมากนัก แต่ถ้าหากเป็นปุ๋ยเคมีล่ะ เราจะใส่อย่างไรให้คุ้มค่ากับต้นทุนมากที่สุด วันนี้เราจึงมีวิธีมาแนะนำในการใส่ปุ๋ยต่างๆ ดังต่อไปนี้

          1. เริ่มต้นจากรู้จักพื้นที่ปลูกว่ามีลักษณะทางกายภาพอย่างไร ได้แก่ การตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อให้รู้ว่าดินมีโครงสร้างเป็นดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย ดินเค็ม ดินน้ำไหลทรายมูล มีอินทรีย์วัตถุเท่าไร ความเป็นกรด – ด่างของดิน ระดับน้ำใต้ดิน ตลอดจน ค่าแลกเปลี่ยนประจุของดิน ข้อมูลเหล่านี้ เกษตรกรเพียงแต่เก็บตัวอย่างดินไปตรวจก็จะได้ข้อมูลเพื่อใช้พิจารณาในอันดับต่อไป

          2. เมื่อปลูกกล้าพืช เราเตรียมดินด้วยการขุดหลุม นำดินที่ขุดขึ้นมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ และปูนขาว (หากดินค่อนข้างเป็นกรด) คลุกเคล้าก่อนใส่กลับลงไปในหลุมใหม่ กล้าไม้ที่จะนำลงปลูก ต้องมีอายุเหมาะสม ไม่แก่เกินไป นำกล้าไม้มาตัดแต่งรากแก่ รากที่ขด และรากไม่สมบูรณ์ออก คลี่รากให้แผ่กระจายก่อนใส่ลงในหลุม ใส่ดินส่วนที่เหลือกลบรากให้มิด กดดินรอบรากให้แน่น เพื่อป้องกันน้ำขังราก แล้วใช้ไม้พยุงกันลมผูกกับต้นให้แน่นหนา จะเห็นได้ว่า ระยะนี้จะยังไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี เพราะรากกล้ายังบอบบาง ปุ๋ยที่ใส่ลงไปจะทำลายรากให้เกิดแผล อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรคในดิน เมื่อรากกล้าแตกออกมาใหม่และแข็งแรงดีจึงเริ่มใส่ปุ๋ยเคมีได้

          3. เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้แล้ว เราจะใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 นับว่าเป็นปีที่ 1 เราจะใส่ไม่มากนัก ถ้าดินเป็นดินเหนียวและน้ำใต้ดินสูง จะใส่น้อยกว่าดินร่วนครึ่งหนึ่งเพราะปุ๋ยไนโตรเจนจะละลายไปกับน้ำได้ในปริมาณมากและเร็วกว่าดินแห้ง สมมุติว่าใส่ต้นละ 50 กรัม (ขึ้นกับชนิดของไม้ผล) เรามักใส่สูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 ซึ่งแตกต่างกันที่ชนิดของแม่ปุ๋ยที่นำมาทำสูตรนั้นๆ จำนวนปุ๋ยที่ใส่ในระบบราก จะน้อยกว่าจำนวนปุ๋ยที่หว่านใต้ต้นเท่าตัว(เพราะการหว่านปุ๋ย อากาศและแสงแดดจะทำลายปุ๋ยไปก่อนที่พืชจะนำไปใช้ได้) อย่างไรก็ตามการใส่ปุ๋ยทั้ง 2 วิธี จำนวนปุ๋ยที่ใส่ต้องไม่ออกไปนอกระบบรากพืช

          4. เมื่อต้นไม้มีอายุมากขึ้นก็จะใส่ปุ๋ยมากขึ้น โดยปีที่ 2 มักใส่มากกว่าปีที่ 1 เท่าตัว (คือ 100 กรัมต่อต้นต่อปี) จำนวนครั้งของการแบ่งใส่ ขึ้นอยู่กับความเปียกหรือแห้งของดิน ถ้าดินเปียก ต้องแบ่งใส่ปีละบ่อยครั้งกว่าดินแห้งเสมอ พืชอายุน้อยอาจแบ่งใส่ปีละ 6 -10 ครั้ง พืชอายุ 3 ปีขึ้นไป จะแบ่งใส่ปีละ 4-6 ครั้ง และจำนวนปุ๋ยจะเป็น 150 กรัมต่อต้นต่อปี

          5. เมื่อไม้ผลให้ผลผลิต วิธีการประหยัดปุ๋ย คือการคำนวนว่าเรานำปุ๋ยออกไปจากสวนกี่กิโลกรัม โดยชั่งน้ำหนักผลไม้ที่เก็บเกี่ยวได้ (หากเป็นได้ควรทราบจำนวนผลผลิตต่อต้น หากไม่สามารถทำได้ก็ทราบจำนวนผลผลิตต่อสวน แล้วคำนวนเป็นน้ำหนักต่อต้น) เราจะใส่ปุ๋ยเท่ากับธาตุอาหารที่ติดไปกับผลผลิต ซึ่งเราจะทราบจากค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารของผลไม้แต่ละชนิด โดยผลการวิเคราะห์จะบอกถึงปริมาณธาตุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมอีก 10 ชนิด ที่พบในผลไม้ชนิดนั้นๆ (ผลไม้หลายชนิดได้มีการวิเคราะห์ค่าของธาตุอาหารไว้แล้วสามารถนำมาใช้ได้เลย)

 

จะเห็นได้ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ยอมให้ปุ๋ยที่ใส่เกินไปนั้นละลายหายไปโดนไม่สนใจอะไรมัน ทั้งยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มต้นทุนอีกด้วย แต่แต่ปฎิบัติตามขั้นตอนนี้ ก็จะสามารถช่วยประหยัดต้นทุนของเกษตรกรไดเอีกทางหนึ่ง

 

 

แหล่งที่มา

ขอขอบคุณ : ERAWAN