กระท้อนถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจของไทย เป็นไม้ยืนต้นซึ่งปลูกง่าย มีหลากหลายสายพันธุ์ แถมต้นกระท้อนยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ยิ่งให้ผลดี และต้นจะสมบูรณ์แข็งแรงตามไปด้วย วันนี้เราจึงนำ วิธีปลูกกระท้อน มาฝากกันค่ะ

วิธีปลูกกระท้อน ด้วยตัวเอง

สมัยก่อนนิยมปลูกกระท้อนด้วยวิธีเพาะเมล็ด จะทำให้กลายพันธุ์ บางครั้งอาจได้พันธุ์ที่มีคุณภาพดีกว่าต้นแม่แต่ก็มีไม่มากนัก แอดจึงขอแนะนำวิธีปลูกด้วยต้นกล้านะคะ เลือกหาซื้อสายพันธุ์ที่ชอบได้ตามตลาดต้นไม้ หรือ ร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ก็ได้ค่ะ

 

ขั้นตอนแรก ต้องเตรียมดินให้พร้อมเสียก่อน ต้นกระท้อนจะเจริญงอกงามดีหากปลูกด้วยดินร่วนปนทราย เริ่มแรกให้ไถพรวนปรับหน้าดินแล้วคลุกด้วยปุ๋ยคอก มูลไก่ มูลวัว ทิ้งไว้ 10 วัน แล้วไถพรวนอีกครั้งให้ดินละเอียดร่วนซุย ดินจะได้โปร่งขึ้น รากจะไม่เน่า แล้วขุดหลุมให้มีขนาดไม่ต่ำกว่า กว้าง 50 เมตร x ยาว 50 เมตร x ลึก 50 เมตร เพราะยิ่งหลุมมีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งดี จะช่วยให้ต้นกระท้อนโตเร็วมากยิ่งขึ้น ผสมดินที่ขุดขึ้นมากับปุ๋ยคอกเก่า ๆ รองก้นหลุม ประมาณ 10 กก. ต่อหลุม ตามด้วยปุ๋ยหินฟอสเฟต ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อหลุม กลบดินผสมลงในหลุมให้พูนขึ้นกว่าระดับปากหลุมเล็กน้อย นำถุงชำต้นกระท้อนออกแล้ววางต้นกระท้อนที่เตรียมไว้ปลูกลงกลางหลุม จากนั้นกดดินให้แน่น ใช้ไม้หลักป้ายยึดลำต้นกันลมพัดโยก รดน้ำให้ชุ่ม ถ้ามีแดดจัดควรติดสแลนเพื่อเบาแดดจะทำให้ต้นกระท้อนตั้งตัวเร็วขึ้น ระยะปลูกต้นกระท้อนควรห่างกันตั้งแต่ 6 x 8 เมตร ถึง 5 x 8 เมตร เพื่อให้ไม่แย่งแสงแดดและอาหารกัน ทั้งยังสะดวกต่อการเข้าห่อผลกระท้อน การเก็บเกี่ยวและตัดแต่งกิ่งอีกด้วย เพราะกระท้อนเป็นไม้ผลที่ทรงพุ่มขนาดใหญ่เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและห่อผลซึ่งจะต้องทำทุกปี จึงนิยมตัดแต่งกิ่งนำที่จะทำให้ทรงพุ่มสูงขึ้นไปออกเสีย ทรงพุ่มจะขยายออกด้านข้างแทนด้านบน จึงสะดวกในการปฏิบัติงาน

 

กระท้อน

 

กระท้อนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ขณะเดียวกันก็ทนสภาพความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ในช่วงที่กระท้อนยังเล็กอยู่จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นกระท้อนเติบโตขึ้นการให้น้ำก็จะมีช่วงห่างขึ้น อย่างไรก็ดีในช่วงที่ต้นกระท้อนเริ่มออกช่อดอกและติดผลจะต้องให้น้ำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ช่อดอกมีความสมบูรณ์ การติดผลดี ผลที่ติดแล้วจะเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ สวนที่มีการให้น้ำดีจะทำให้ผลมีขนาดโตกว่าสวนที่ขาดแคลนน้ำ และยังลดปัญหาเรื่องผลแตกได้ ซึ่งปัญหานี้จะพบเสมอในสวนที่ขาดแคลนน้ำ

การดูแลรักษาหลังปลูก
หลังจากปลูกแล้วจะต้องคอยดูแลรักษาต้นกระท้อนอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่ากระท้อนจะเป็นไม้ผลที่ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวนมากนัก แต่การบำรุงรักษาให้ดีอยู่เสมอจะช่วยให้ต้นกระท้อนเจริญเติบโตเร็วมาก การดูแลรักษาโดยทั่วไปมีดังนี้

การห่อผลกระท้อน = ขั้นตอนสำคัญในการปลูกกระท้อนให้ได้ผลงาม
การห่อผลกระท้อน ควรห่อเมื่อผลกระท้อนเริ่มมีขนาดเท่าผลมะนาว เพื่อให้ผลสวย ผิวเรียบเนียน ป้องกันแมลงวันทองมาเจาะกินหรือวางไข่ ซึ่งจะทำให้ผลร่วงเสียหาย

 

กระท้อน – ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน

 

การตัดแต่งกิ่ง
ต้นกระท้อนที่ยังไม่ให้ผล เราจะตัดแต่งกิ่งเพียงเล็กน้อยเพื่อให้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ส่วนต้นที่เริ่มให้ผลกระท้อนบ้างแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งที่หนาทึบออกให้โปร่งๆ เข้าไว้ โดยมีเกณฑ์การเลือกตัดแต่งกิ่งให้พิจารณาตัดกิ่งดังต่อไปนี้

– กิ่งที่ถูกโรคแมลงเข้าทำลาย กิ่งแห้งตาย

– กิ่งที่แน่นทึบอยู่ในทรงพุ่ม

– กิ่งนำซึ่งมักจะเจริญเติบโตไปในแนวสูงทำให้ทรงพุ่มสูงขึ้น ควรจะตัดเพื่อควบคุมทรงพุ่มให้มีการเจริญออกทางด้านกว้างมากกว่า เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา ตลอดจนการห่อผลและเก็บเกี่ยวผลผลิต

การกำจัดวัชพืช
วัชพืชมักเจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน สำหรับสวนเล็กๆ สามารถใช้จอบดายหญ้าได้ แนะนำให้กำจัดวัชพืช 3 – 4 ครั้งต่อปี เพื่อป้องกันการแย่งอาหารจากต้นกระท้อน

หลังเก็บเกี่ยวแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงพักต้น ให้บำรุงด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ซึ่งเราสามารถผสมเองได้โดย ผสมกระดูกป่น แกลบ มูลไก่ มูลวัว และมูลค้างคาวมาหมักเข้าไว้ด้วยกัน ใส่รอบๆ ต้นกระท้อนปีละครั้ง พร้อมไถพรวนรอบต้นให้ดินโปร่ง ร่วนซุย และตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นกระท้อนได้รับแสงอาทิตย์เพียงพอ