บุกเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ที่มีความนิยมรับประทานส่วนหัว เพราะมีประโยชน์มากมาย เช่น สารกลูโคแมนแนน (Glucomannan) ที่ช่วนในการลดความอ้วน เป็นต้น อีกทั้งบุกยังสามารถนำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกหลากหลาย ทำให้บุกนั้นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

วิธีการปลูก

การเตรียมแปลงปลูก

ทำการไถดะ ไถพรวน แล้วยกร่องกว้าง 60 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างร่อง 50 เซนติเมตร

การปลูก
การปลูกด้วยหัวใต้ดิน

หัวพันธุ์ ขนาดกลางขนาด 200-400 กรัม/หัว และชิ้นพันธุ์น้ำหนัก 200-250 กรัม/ชิ้น โดยใช้ระยะปลูก 30 x 30 เซนติเมตร
ฝังดินหัวพันธุ์ ฝังโดยหันหน่อกลางขึ้นด้านบน ส่วนชิ้นพันธุ์ฝังโดยหันด้านที่ผ่าลงก้นหลุม ให้ส่วนหัวอยู่ลึกจากผิวดิน 5 เซนติเมตร โดยหน่อจะฝังดินหรือโผล่ขึ้นมาก็ได้
– ให้น้ำหลังปลูกครั้งแรกให้ชุ่มแต่ไม่ขังแฉะต้องระวังหัวเน่า
– ช่วงฝนทิ้งช่วงให้น้ำ 7 วัน/ครั้ง

การปลูกด้วยหัวบนใบ

– ใช้ระยะปลูก 30 x 20 เซนติเมตร
– หัวที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 กรัม ต้องทำแปลงหว่านให้งอกเสียก่อนจึงนำไปปลูกในแปลงพันธุ์ต่อไป
– หัวบนใบที่มีขนาด 2.5-20 กรัมปลูกลงแปลงหัวพันธุ์ได้โดยขุดหลุมให้ลึกจากผิวดิน 3 เซนติเมตร วางให้ส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งขึ้นแล้วกลบดิน
– คลุมร่องด้วยฟางเพื่อรักษาความชุ่มชื้น
– ให้น้ำหลังปลูกทุก 3-5 วัน ในช่วงแล้ง

การดูแลรักษา

การพรางแสง ตั้งโครงตาข่ายสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 – 2 เมตร แล้วกางตาข่ายพรางแสงคลุมทั่วแปลง โดยใช้ตาข่ายพรางแสง 50 % หรือเลือกใช้ไม้ยืนต้นพรางแสง ควรใช้ไม้ที่มีใบเล็ก ผลัดใบในฤดูแล้งและมีใบโปร่งในฤดูฝน มีอายุใบ 4-5 เดือน เช่น ประดู่อ่อน
การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 โดยใส่แบบหว่านบนร่อง 2 ครั้ง ๆ ละ 30 กิโลกรัมต่อไร่ หลังปลูกประมาณ 1 เดือนครึ่ง และ 3 เดือน หรือในครั้งที่ 2 อาจใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตราเท่ากันจะให้ผลดีขึ้น ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ให้ใส่ปุ๋ยคอก 1.5 – 3 ตันต่อไร่ก่อนปลูก
การกำจัดวัชพืช แปลงหัวพันธุ์ควรทำการกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 3 ครั้ง แปลงผลิตควรทำการกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 2 ครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ก่อนการใส่ปุ๋ยแต่ละครั้ง โดยใช้มือถอนบนร่องและใช้จอบดายหญ้าระหว่างร่อง ส่วนการกลบโคนต้นจะทำเพียงครั้งเดียว ช่วงก่อนการใส่ปุ๋ยครั้งแรกเท่านั้น
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
โรคเน่า ที่เกิดจากเชื้อ Erwinia carotovora จะเข้าทำลายต้นบุกทางหัวใต้ดินและเส้นใบที่หักหรือเป็นแผลทำให้หัวเน่าและมีกลิ่นเหม็น แล้วลุกลามไปยังส่วนของต้นทำให้ต้นหักพับลงมา ป้องกันและกำจัดโดยใช้หัวพันธุ์ที่ไม่เป็นโรคมาปลูกหมั่นตรวจสอบแปลงปลูก ถ้าพบโรคให้ขุดต้นและดินรอบ ๆ ต้นรัศมี 10 นิ้ว ไปทิ้งหรือฝังทำลาย แล้วโรยปูนขาวบริเวณที่ขุดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อหนอนแก้ว (Theretra sp.) ทำลายต้นบุกโดยกัดกินใบ กำจัดโดยจับไปทำลาย

ประโยชน์ของบุก

          หัวบุก เป็นพืชที่รู้จักกันดีในแถบประเทศเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่รู้จักบุกในชื่อ คอนยัค (Konjac) และเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากบุกเป็นประเทศแรกๆ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดี มีเส้นใยมาก และมีสรรพคุณทางยาอีกหลายด้าน นอกจากนั้น บุกยังมีประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่
– นำมาแปรรูปเป็นแป้งบุกสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อาทิ ทำขนมหวาน เส้นก๋วยเตี๋ยว ทำไส้กรอก ทำวุ้นเส้น ทำเส้นหมี่ เป็นต้น
– แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปของผงในแคปซูล
– แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในรูปของผงสำหรับชงดื่ม
– นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
– นำมาฝานเป็นแผ่น ตากแห้ง และนำมานึ่งรับประทาน
– หัวนำมาต้มหรือนึ่งรับประทาน หรือทำเป็นของหวาน
– หัวนำมาประกอบเป็นอาหารคาวร่วมกับเนื้อสัตว์ได้หลายเมนู
– ลำต้นนำมาประกอบอาหาร เช่น บุกอีลอกนำมาทำแกง เป็นต้น
– ใบ ลำต้น และหัวบุก ใช้เป็นเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์

สารสำคัญที่พบ

          สารสำคัญที่พบมีสรรพคุณทางยาในบุกที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักในการลดความอ้วน และควบคุมน้ำหนัก คือ “กลูโคแมนแนน” (Glucomannan) ซึ่งเป็นใยอาหารกลุ่มที่ละลายน้ำได้ หรือเป็นไฟเบอร์คล้ายเจล พบมากที่สุดในรากหรือหัวของต้นบุก ซึ่งมีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า Konjac

 

 

 

แหล่งที่มา

ขอขอบคุณ : เทคโนโลยีชาวบ้าน / พืชเกษตร / ข่าวสด / thaiorganica