อ้างอิงรูปภาพ : Thaigreenago

โรครากเน่าโคนเน่า จัดเป็นโรคที่พบกันมากในสวนพืช ผัก ผลไม้ ของชาวไร่ ชาวสวน ไม่ว่าจะเป็น เงาะ ทุเรียน ลองกอง ลางสาด พริก มะเขือ คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำ มะนาว แตงกวา ลำไย ปาล์ม ยางพารา ฯลฯ ซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียรายได้และผลผลิตของเกษตรเป็นอย่างมาก
เพราะจัดว่าเป็นโรคที่ทำให้พืชนั้นขาดสารอาหารเพราะระบบรากถูกทำลายเน่าถอดปลอกและอาจจะติดเชื้อแบคทีเรีย ลุกลามเข้าไปในท่อน้ำท่ออาหารจนบางครั้งพืชบางชนิดก็ตายได้อย่างฉับพลันทันทีทั้งๆ ที่ความเขียวยังคงอยู่ จนชาวบ้านบางแห่งที่พบโรคนี้ต่างเรียกกันว่า “โรคเหี่ยวเขียว” ซึ่งสาเหตุจริงๆอาจจะไม่เกี่ยวกับเชื้อราโรคพืชที่ก่อให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่า แต่ก็ถือว่าเป็นเหตุที่ต่อเนื่องกันได้

สาเหตุของโรค

เกิดจากเชื้อรา ได้แก่ ไฟทอปทอร่า พิเทียม สเคลอโรเทียม ฟิวซาเรียม ไรซอคทอเนีย

อ้างอิงรูปภาพ : SVGROUP

ลักษณะอาการของโรค

ผักจะแสดงอาการเหี่ยวตาย ถ้าถอนต้นดูที่รากและโคนจะเน่าเป็นสีน้ำตาล มีรากเป็นเส้นใยสีขาวหยาบๆ จับอยู่แถวโคนต้น และแทรกอยู่ในดิน นอกจากนี้จะเห็นเม็ดราสีน้ำตาลดำขนาดเท่าเมล็ดผักกาด สภาพที่เหมาะต่อการเกิดโรค อุณหภูมิดินสูง และดินมีสภาพเป็นกรด

การดูแลรักษา

การดูแลรักษาโรครากเน่าโคนเน่า ไม่ควรใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายรุนแรงทั้งต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และเป็นปฏิปักษ์กับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคได้ จุลินทรีย์หรือราเขียวที่ชื่อว่า “ไตรโคเดอร์ม่า” คือจุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราโรคพืช เช่น ไฟทอปทอร่า ฟิวซาเรียม พิเทียม สเคลอร์โรเทียม และไรซอคทอเนีย ถ้าเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้เชื้อราเขียว ไตรโคเดอร์ม่า อาศัยอยู่ในดินได้นานๆ โดยการใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกอย่างสม่ำเสมอ หรือนำเศษซากของหญ้า พืช ผัก ไม้ผล มาคลุมไว้ใต้โคนต้น ก็จะช่วยทำให้อุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นมีความเหมาะสมต่อจุลินทรีย์ที่จะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและยาวนาน