ดินสามารถแบ่งออกอย่างง่ายๆ ได้เป็น 3 ชนิด คือ ดินทราย ดินร่วน และดินเหนียว ชนิดของดินแต่ละชนิดนั้นมีลักษณะแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอนุภาค องค์ประกอบ เนื้อดิน ช่องว่างระหว่างดิน หรือความอุดมสมบูรณ์ เหล่านี้ส่งผลต่อความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชที่แตกต่างกัน

เนื้อดิน เป็นคุณสมบัติบ่งบอกถึงปริมาณของอนุภาคอนินทรีย์สารขนาดต่างๆ ของดิน ได้แก่ อนุภาคขนาดเม็ดทราย ขนาดเม็ดทรายแป้ง และขนาดดินเหนียว เมื่ออนุภาคเหล่านี้รวมตัวกันด้วยสัดส่วนที่ต่างกัน ทำให้ดินมีลักษณะเนื้อดินต่างกัน เมื่อใช้เนื้อดินเป็นเกณฑ์ อาจแบ่งดินออกเป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้

 

1. ดินทราย

ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเม็ดทรายร้อยละ 85-100 โดยน้ำหนัก อนุภาคขนาดเม็ดทรายแป้งร้อยละ 0-15 โดยน้ำหนัก และอนุภาคขนาดดินเหนียว ร้อยละ 0-10 โดยน้ำหนัก เป็นดินเนื้อหยาบ ดินมีสีน้ำตาลปนแดง ไม่ค่อยพบมีสิ่งมีชีวิตในดิน อนุภาคดินทรายไม่ยึดติดกับอนุภาคอื่น จึงมีช่องว่างให้น้ำซึมผ่านอย่างรวดเร็ว และไม่ค่อยกักเก็บน้ำ เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พืชดึงดูดธาตุอาหารได้น้อย พืชที่ขึ้นบนดินทรายจึงมักขาดทั้งอาหารและน้ำ

 

2. ดินร่วน

ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเม็ดทรายร้อยละ 20-52 โดยน้ำหนัก อนุภาคขนาดเม็ดทรายแป้งร้อยละ 28-50 โดยน้ำหนัก และอนุภาคขนาดดินเหนียวร้อยละ 17-30 โดยน้ำหนัก เป็นดินเนื้อผสม เนื้อดินค่อนข้างละเอียด นุ่มมือ ร่วนซุย ยืดหยุ่นเล็กน้อย มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง น้ำไม่ผ่านรวดเร็วจนเกินไป จึงกักเก็บความชื้นไว้ได้ เป็นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูก

 

3. ดินเหนียว

ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเม็ดทรายร้อยละ 0-45 โดยน้ำหนัก อนุภาคขนาดเม็ดทรายแป้งร้อยละ 0-40 โดยน้ำหนัก และอนุภาคขนาดดินเหนียวร้อยละ 40-100 โดยน้ำหนัก มีเนื้อละเอียดมาก ดินมีสีดำหรือดำปนน้ำตาล เนื้อดินแน่นมาก แทบไม่มีช่องว่างให้น้ำซึมผ่าน มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี เมื่อเปียกน้ำจะยืดหยุ่นและเหนียวมาก ทำให้ไถพรวนได้ยาก เมื่อแห้งจะเป็นก้อนแข็งมาก แต่ปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป้นเส้นยาวได้ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน

 

เราสามารถจำแนกดินในประเทศไทยออกเป็น 20 กลุ่มดินหลัก ตามลักษณะสัณฐานของดินแต่ละกลุ่ม ยังแบ่งย่อยลงไปอีกเป็น ชุดดิน ตามลักษณะปลีกย่อยต่างๆ ทางเคมีและทางกายภาพ

แต่ละชุดดินมีชื่อเรียก โดยใช้ชื่อสถานที่ที่พบดินเป็นครั้งแรก เช่น ชุดดินโคราช ชุดดินลำปาง ชุดดินยะลา เป็นต้น ซึ่งชุดดินต่างๆ มีลักษณะดินที่แตกต่างกัน จึงใช้ประโยชน์ที่ดินแตกต่างกันไป เช่น ชุดดินราชบุรี ใช้ทำนาข้าว ปลูกพืชผักสวนครัวหลังฤดูทำนา ชุดดินรังสิต ใช้ทำนา ยกร่องปลูกส้ม หรือพืชผักอื่นๆ เป็นต้น