อ้างอิงรูปภาพ : smilesmall

ชันโรง เป็นแมลงขนาดเล็กที่มีพฤติกรรมเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ และ ละอองเกสร (เรณู) มาใช้เป็นอาหารคล้ายผึ้งแต่ชันโรงไม่มีเหล็กใน จึงไม่สามารถ ต่อยได้ ในประเทศไทยเราสามารถพบชันโรงได้ในทุกภาค โดยมีชื่อเรียกแตกต่าง กันไปตามภูมิภาค เช่น ทางภาคเหนือเรียกชันโรงที่มีขนาดเล็กว่า แมลงขี้ตึง หรือ ตัวขี้ตังนี แต่ถ้าเป็นชันโรงที่มีขนาดใหญ่จะเรียกว่า ขี้ย้า โดยเรียกว่า ขี้ย้าดำ หรือ ขี้ย้าแดง ตามสีของลำตัวของชันโรง ภาคใต้เรียกชันโรงขนาดเล็กว่า อุง หรืออุงแมลงโลม และเรียกชันโรงขนาดใหญ่ว่า อุงหมี (อุงแดง หรืออุงดำ) ภาคตะวันตกเรียกตัวตุ้งติ้ง หรือตัวติ้ง จากพฤติกรรมการขนเกสรที่ขาหลัง ส่วนภาคตะวันออกเรียกชำมะโรง หรือแมลงอีโลม ส่วนคำว่าชันโรงน่าจะเป็นชื่อที่เรียกจากพฤติกรรมการเก็บชันของ แมลงชนิดนี้(Michener, 2000)

 

สำหรับท่านที่มีสวนผลไม้ หากต้องการที่จะเลี้ยงชันโรงจะต้องมีเทคนิคเริ่มต้นเพื่อเป็นฝึกหัดตนเองซึ่งเป็นเส้นทางเริ่มต้นไปสู่ความสำเร็จ เนื่องจากปัจจุบันนอกจากการใช้ผึ้งผสมเกสรพืชแล้วยังมีการใช้ชันโรงหรือผึ้งจิ๋วเข้ามาใช้ผสมเกสรด้วยโดยการปล่อยชันโรงผสมเกสรจะแม่นยํากว่าผึ้ง และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงในภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.จันทบุรี ปัจจุบันมีการทำการแยกขยายพันธุ์ชันโรงออกจำหน่ายในราคารังละ 600-1,200 บาท และการเช่ารังชันโรงเพื่อการผสมเกสรพืชเศรษฐกิจ ทั้งทุเรียน เงาะ และลำไย โดยคิดค่าเช่ารังละประมาณ 30 บาท/วัน จะเห็นได้ว่าชันโรงแมลงที่รู้จักในวงแคบ สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งทางตรง และทางอ้อมทั้งปี นับว่าแนวทางการเลี้ยงชันโรงเพื่อการค้า และการส่งออกมีอนาคตไกล และมีความน่าสนใจ ดังนั้น ผศ.มาโนช กลูพฤกษี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ม.10 ต.พลวง อ.เขาคิชกูฎ จ.จันทบุรี จึงได้แนะนำการเลี้ยงชันโรงอย่างง่ายผ่านทาง FM 106.25 MHz. สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.จันทบุรี สำหรับผู้ที่สนใจต้องการเริ่มต้นเลี้ยงแบบง่าย

อ้างอิงรูปภาพ : ข่าวสด

วัสดุ/อุปกรณ์

  1. กระถางดินเผา /กล่องไม้สำหรับเลี้ยงผึ้ง หรือยางรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว
  2. พ่อแม่พันธุ์ชันโรง

ขั้นตอน

  1. นำวัสดุในการสร้างรังให้ชันโรง เช่นกระถางดินเผาคว่ำลงให้เหลือทางออกทางเดียวหรือยางรถยนต์ซ้อนกันหลาย ๆ เส้น หรือกล่องไม้ที่ใช้สำหรับเลี้ยงผึ้ง
  2. นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชันโรง มาใส่ในรัง ต้องปล่อยในเวลากลางคืนเพราะถ้าเจอแสงชันโรงจะหนีออกจากรัง
  3. บริเวณที่เลี้ยงต้องมีพืชอาหาร เช่น ดอกของไม้ผล ดอกของวัชพืช ดอกของไม้ดอกต่าง ๆ ช่วงเวลาการบานของดอกต่าง ๆ กัน ซึ่งจะทำให้ชันโรงมีอาหารตลอดทั้งปี
  4. หลังจากนั้นชันโรงจะอยู่อย่างถาวร เนื่องจากชันโรงไม่ชอบย้ายถิ่นฐานเหมือนผึ้ง
  5. เนื่องจากชันโรงชอบความสงบ จึงไม่ควรมีสิ่งรบกวนหรือย้ายรัง

การใช้ประโยชน์จากชันโรง การใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งของชันโรง

คนไทยรู้จักการใช้ประโยชน์ของผลผลิตตัวชันโรงที่ได้มาจากการเก็บรังชันโรงตามธรรมชาติมานาน ได้นำน้ำผึ้งของมันมาเพื่อใช้บริโภคโดยตรง เชื่อกันว่าน้ำผึ้งจากชันโรงมีสรรพคุณทางยามากกว่าน้ำผึ้งจากผึ้ง การใช้น้ำผึ้งเป็นองค์ประกอบของยา สมุนไพร เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งจากชันโรงมีคุณค่าทางยาสูง

การใช้ประโยชน์จากชันของชันโรง

ชัน หรือ พรอพอลิส (propolis) ของชันโรง คนไทยโบราณนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน ปัจจุบัน มีการผลิตชันของยางไม้ที่ชันโรงเก็บมาจากต้นพืชหลากหลายชนิด นำมาผสมรวมกับไขผึ้งที่ชันโรงผลิตขึ้นจากภายในลำตัวชันโรง ชันก็เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีผลในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรคและเพิ่มภูมิคุ้มกัน ปัจจุบัน มีการนำชันมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น ใช้เป็นยารักษาการติดเชื้อในช่องปาก รักษาเหงือกอักเสบ รักษาการอักเสบของผิวหนัง ทำเป็นยาหม่อง ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสีฟันแชมพูสระผม เป็นต้น ใช้ยาสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ภาชนะบรรจุน้ำ จอกน้ำ ขันน้ำ ใช้อุดยุ้งฉางที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้อุดเครื่องดนตรี อย่าง แคน ใช้ติดลูกระนาดกับระนาด ใช้ทำวัตถุมงคล ใช้อุดฐานพระ เป็นต้น

คนสมัยก่อนใช้ชันจากรังชันโรงอุดรูรั่วของเรือขนาดเล็กน้อย เรียกว่า ยาเรือ (การยาเรือ ปัจจุบัน คนอาจไม่เคยเห็นและรู้จักการยาเรือ ซึ่งเป็นการนำเรือที่ต่อด้วยไม้ทั้งลำเล็กและลำใหญ่ขึ้นมาบนบก เรียกว่า ขึ้นคานสำหรับเรือใหญ่ ถ้าเป็นเรือขนาดเล็ก เช่น เรือบด เรือสำปั้น ใช้การคว่ำเรือแล้วยาชัน ส่วนเรือใหญ่ต้องตอกยัดด้ายดิบลงในร่องรอยต่อ เรียกว่า การตอกหมันแล้วยาด้วยชันอุดลงตามร่องรอยต่อของกระดาน เพื่อกันรั่วไม่ให้น้ำเข้า เนื่องจากใช้ชันปริมาณมาก จึงใช้ชันผงผสมกับน้ำมันยาหรือน้ำมันยางและปูนแดงเทลงในกะลามะพร้าวคนให้เข้ากัน

ประโยชน์จากชันโรงในทางเกษตรกรรม

ชันโรง มีบทบาทสำคัญในการช่วยผสมเกสร ทั้งพืชป่าและพืชที่เพาะปลูก ปัจจุบันชันโรงมีความสำคัญต่อชาวสวนผลไม้อย่างมาก โดยเฉพาะผลไม้ที่ให้ผลตอบแทนสูง เพราะชันโรงจะช่วยผสมเกสรให้กับดอกไม้ผลให้ติดผลได้มากกว่าการปล่อยให้มันผสมกันเองตามธรรมชาติ จึงมีผู้หันมาเลี้ยงชันโรงเพื่อใช้ประโยชน์ในการผสมเกสรหรือให้เช่ารังชันโรง

 

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณ : farmerspace / รักบ้านเกิด / อาร์วายทีไนน์